การพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น
ความหมายของหลักสูตรท้องถิ่น
การนำหลักสูตรแม่บทมาปรับเพิ่มให้สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น เพื่อให้ผู้เรียนเรียนรู้จากประสบการณ์จริง อันจะนำไปสู่การใช้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิต โดยพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ฉบับปรับปรุง แก้ไขเพิ่มเติม (ครั้งที่ 2) พ.ศ. 2545 (สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา 2547 : 15) ให้คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อความเป็นไทย ความเป็นพลเมืองที่ดีของชาติ การดำรงชีวิต และการประกอบอาชีพ ตลอดจนการศึกษาต่อ
ดังนั้น สถานศึกษาขั้นพื้นฐานจะต้องจัดทำสาระของหลักสูตร ในส่วนที่เกี่ยวกับสภาพในชุมชนและสังคม ภูมิปัญญาท้องถิ่น คุณลักษณะอันพึงประสงค์ เพื่อเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ ดังนั้น นอกจากโรงเรียนจะจัดเป็นหลักสูตรสถานศึกษา แล้ว ยังต้องเพิ่มหลักสูตรท้องถิ่นที่สนองตอบต่อความต้องการของท้องถิ่นที่โรงเรียนอยู่อีกด้วย ความหมายของหลักสูตรท้องถิ่น ก็คือ “การดำเนินงานจัดทำ ขยายเพิ่มเติมเรื่องที่จำเป็นและสำคัญที่ต้องการให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เพิ่มเติมตามความต้องการของท้องถิ่น โดยไม่กระทบต่อหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2544 แต่เป็นการเสริมสร้างต่อยอดให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ เต็มตามศักยภาพและนำไปสู่มาตรฐานของหลักสูตร”
ลักษณะการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น 3 ประเภท คือ
หลักสูตรท้องถิ่นที่พัฒนาโดยท้องถิ่นเองทั้งหมด แต่ต้องเป็นไปตามนโยบายที่ส่วนกลางได้กำหนดไว้ ( หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2544 )
หลักสูตรท้องถิ่นที่พัฒนาขึ้นจากหลักสูตรแม่บทที่ส่วนกลางจัดทำ ส่วนกลางของรัฐ จัดทำหลักสูตรแม่บท และเว้นที่ว่างให้ท้องถิ่นมีเสรีภาพในการพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของท้องถิ่น โดยหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2544 มีแนวทางการพัฒนาได้เป็น 2 กรณี คือ
1) หลักสูตรท้องถิ่นที่พัฒนาโดยบางส่วนของหลักสูตรแม่บท กล่าวคือ เป็นการปรับองค์ประกอบส่วนใดส่วนหนึ่งของหลักสูตรแม่บท เช่น ปรับรายละเอียดของสาระการเรียนรู้ เพิ่มเติมกระบวนการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับสภาพปัญหา และความต้องการของท้องถิ่น ทั้งนี้ยังยึดมาตรฐานของหลักสูตรแม่บทอยู่
2) หลักสูตรท้องถิ่นที่พัฒนาขึ้นเป็นรายวิชาใหม่ หรือการสร้างหลักสูตรย่อย เพื่อเสริมหลักสูตรแม่บท โดยให้สอดคล้องกับสภาพปัญหา และความต้องการของท้องถิ่น ทั้งนี้ สามารถจัดทำมาตรฐานการเรียนรู้เพิ่มเติมจากมาตรฐานของหลักสูตรแม่บท
หลักสูตรท้องถิ่นที่พัฒนาสำหรับท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่งโดยเฉพาะ เป็นหลักสูตรที่หน่วยงานในท้องถิ่นพัฒนาเป็นหลักสูตรเฉพาะกิจ และเป็นหลักสูตรระยะสั้น ๆ เพื่อใช้กับชุมชนหรือท้องถิ่นตามความต้องการและความสมัครใจของผู้เรียน รวมทั้งความสอดคล้องกับสภาพสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของชุมชนในท้องถิ่นนั้น ๆ เช่น หลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น อาทิ หลักสูตรซ่อมเครื่องยนต์ หลักสูตรทำขนม หลักสูตรการทำอาหาร เป็นต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น